การเพาะเห็ดในท่อนไม้

                                                                                การเพาะเห็ดในท่อนไม้


                                                                            
     นับตั้งแต่มีการเพาะเห็ดในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504เป็นต้นมานั้น ใช้วิธีการเพาะในไม้เนื้ออ่อน ซึ่งก็ได้ผลดีตลอดมา  ไม้ที่นิยมกันมากที่สุด  คือ ไม้แค  ไม้มะม่วง ถ้าเชื้อเห็ดดี ทำถูกต้องตามหลักวิชาการก็จะเป็นผลที่น่าพอใจ เช่นไม้แคขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 - 15 ซม. เก็บผลผลิตภายใน 5 - 6 เดือน อาจจะได้ผลผลิตเห็ดประมาณ 5 - 8 กิโลกรัม
    การเพาะเห็ดในท่อนไม้เมื่อเปรียบเทียบกับการเพาะเห็ดในถุงแล้ว จะเห็นว่า  ถึงแม้การเพาะเห็ดในท่อนไม้จะมีอุปกรณ์น้อย  วิธีการไม่สลับซับซ้อน  ตลอดจนการเก็บผลผลิต เก็บได้นานก็จริง  แต่เห็ดที่ได้จากการเพาะในท่อนไม้จะมีคุณภาพสู้เห็ดที่เพาะในถุงไม่ได้  ทั้งนี้เพราะดอกเห็ดที่เกิดจากท่อนไม้จะมีลักษณะดอกเห็ดที่กระด้าง  สีไม่สวย อาจมีกลิ่นไม้  ซึ่งจะทำให้มีราคาถูกกว่าเห็ดที่เพาะในถุง
หลักการคัดเลือกไม้ที่เอามาเพาะเห็ด
         ไม้ที่จะนำเอามาเพาะเห็ดจะต้องเป็นไม้สด ตัดมาใหม่ๆยิ่งดี  ลักษณะของไม้ ควรมีเปลือกหนา  ไม่มียางที่เป็นพิษต่อเห็ด มีกลิ่นหอม เมื่อฝานเนื้อไม้มาเคี้ยวดูจะมีรส  ออกหวาน  จะเป็น ไม้เนื้ออ่อนหรือไม้เนื้อแข็งก็ได้ แต่ไม้เนื้อแข็งจะใช้เวลาพักไม้มากกว่า
        

ไม้ที่ทดลองแล้วให้ผลคุ้มค่าต่อการลงทุน  ได้แก่
         1.ไม้แค          2.ไม้มะม่วง        3.ไม้นนทรี         4.ไม้พลวง      5.ไม้ไทร           6.ไม้ไคร้น้ำ   
         7.ไม้ขนุน        8.ไม้มะยมป่า     9.ไม้มะกอก        10.ไม้เหียง     11.ไม้ทองกวาว

         นอกจากนี้ยังมีไม้เนื้ออ่อนที่นิยมพอสมควร  แต่ให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ   คือ   ไม้ก้ามปู   ไม้นุ่น  สำหรับไม้เนื้อแข็งที่ใช้ได้ดี   ได้แก่  ไม้กระถินณรงค์   ไม้สะแก   ไม้อินทนิล  เป็นต้น


วิธีการคัดเลือกและตัดไม้สำหรับการเพาะเห็ดในท่อนไม้


    1.ขนาดของไม้ที่ใช้ได้ตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลาง  5 ซม. จนกระทั่งถึงขนาดโตที่สุดของไม้    แต่ไม้ที่มีขนาดเหมาะสมที่สุดคือ  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 - 15 ซม.
    2.อายุของไม้นั้นให้ถือหลักที่ว่า ถ้าไม้อายุน้อยจะให้ผลผลิตเร็วและหมดเร็ว ถ้าหากเป็นไม้แก่เชื้อเห็ดจะเจริญได้ช้า ออกดอกช้า แต่เก็บผลผลิตได้นาน   อายุของไม้ที่พอเหมาะสำหรับ         ไม้เนื้ออ่อนควรอยู่ระหว่าง 3-5 ปี
    3.ควรตัดไม้มาทำการเพาะเห็ดในฤดูใบไม้ผลิ ทั้งนี้เพราะไม้ฤดูนี้จะสะสมอาหารมาก และเมื่อใส่เชื้อเห็ดลงไปแล้ว จะมีเชื้อชนิดอื่นปนน้อยที่สุด
    4.ไม้ที่ใช้เพาะเห็ดควรเป็นไม้สด ตัดมาใหม่ๆ ยิ่งดี   ไม่ควรตัดทิ้งไว้เกิน 1 สัปดาห์
    5.ไม้ที่มียางควรตัดทิ้งไว้ให้ยางหยุดไหลก่อน  เช่น ไม้ยางพารา  ไม้ไทร  ทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนนำไปใส่เชื้อเห็ด
    6.การตัดไม้พยายามอย่าให้เปลือกช้ำเป็นอันขาด ถ้าเปลือกช้ำควรเอาปูนขาวชุบน้ำทา หรือใช้ปูนสำหรับเคี้ยวหมากทาก็ได้
    7.ตัดไม้เป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 80-100 ซม.
    8.ถ้ามีกิ่งแขนงเล็กๆติดมาด้วย ให้ตัดทิ้งและใช้ปูนขาวทารอยแผล


การเจาะรูใส่เชื้อเห็ด

                                     
    การเพาะเห็ดในท่อนไม้จะต้องใส่เชื้อเห็ดลงไปในท่อนไม้  ดังนั้นจะต้องเจาะรูสำหรับ ใส่เชื้อ เท่าที่ปฏิบัติกันมามีหลายวิธี เช่น ใช้เหล็กตอกปะเก็น (ตุ๊ดตู่)  ฆ้อนสำหรับเจาะรูใส่เชื้อ
โดยเฉพาะ  หรือสว่านไฟฟ้า โดยใช้ดอกขนาด 5-6 หุน
         วิธีเจาะรู จับตัวสว่านให้แน่นเจาะลงไปจังหวะเดียว ให้ลึกประมาณ 3-5 ซม การเจาะรูให้เริ่มทางด้านใดด้านหนึ่งของท่อนไม้  โดยให้ห่างจากปลายไม้ประมาณ 3-5 ซม    เจาะเป็นแนวตรงมีระยะห่างประมาณ 10 ซม.  สำหรับแถวถัดไปห่างจากแถวแรกประมาณ 10 ซม. และควรเจาะในลักษณะสับหว่างกลางของแถวแรก หรือแบบซิกแซกและเจาะลึกประมาณ 3-5 ซม. สำหรับการใช้เหล็กตอกประเก็นหรือฆ้อนสำหรับเจาะรูใส่เชื้อเห็ดก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน
        วิธีการใส่เชื้อเห็ด ถ้าเป็นเชื้อที่ทำจากขี้เลื่อยให้ใช้มือบีบถุงให้ขี้เลื่อยแตกก่อน จากนั้นเทใส่ลงในไม้ทางรูที่เจาะ  ใช้ไม้ตะเกียบกระทุ้งให้เชื้อเห็ดลงไปในรูค่อนข้างแน่น ใส่จนเต็มรูที่เจาะไว้  จากนั้นใช้ไม้ตะเกียบกดเชื้อเห็ดให้จมลงไปอีกประมาณครึ่งเซ็นติเมตรแล้วใช้ฝาเบียร์/ฝาขวดน้ำโซดา/ฝาขวดน้ำอัดลมปิดทับรู ใช้ฆ้อนเล็กๆ ทุบฝาเบียร์/ฝาขวดน้ำโซดา/ฝาขวดน้ำอัดลมให้จมลงในเนื้อไม้  ถ้าเป็นเชื้อเห็ดประเภทเมล็ดข้าวฟ่างให้ทำเหมือนกับขี้เลื่อย    
การพักไม้
    การเพาะเห็ดในท่อนไม้  หัวใจสำคัญคือ ระยะของการพักไม้ ซึ่งจะต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไร เชื้อเห็ดที่ใส่ลงไปแล้วเชื้อจะไม่ตาย และสามารถกินเนื้อไม้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  การเพาะเห็ดในท่อนไม้ส่วนมากหลังจากใส่เชื้อเห็ดลงไปแล้วมักปล่อยทิ้งไว้ตามยถากรรม ซึ่งบางครั้งอาจปล่อยจนกระทั่งไม้แห้งก็มี การกระทำเช่นนี้อาจมีโอกาสทำให้ผลผลิตต่ำได้



การวางท่อนไม้
                                              
    วิธีการพักไม้ หลังจากใส่เชื้อเห็ดลงไปแล้ว  นำไปวางไว้ในที่ร่มใต้ต้นไม้ หรือจะสร้างเฉพาะหลังคากันแดดก็ใช้ได้ การวางไม้ควรจะมีคอนกรีตบล๊อครองเสียก่อนเพื่อไม่ให้ท่อนไม้สัมผัสพื้น  และวางแบบการวางหมอนรถไฟ มีระยะห่างไม้ประมาณ 1-2 ซม.  ทั้งนี้เพราะต้องการให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่ไม่ควรให้มีลมโกรกมากเกินไป เพราะจะทำให้ความชื้นภายในลดลง หากมีลมโกรกมากอาจใช้หญ้าคาแห้งคลุมกองไม้ในด้านที่ที่ลมพัดมา  และเมื่อพักไม้ครบ  7 วันแล้ว ควรทำการกลับกองไม้ โดยเอาท่อนไม้ที่อยู่ชั้นล่างขึ้นข้างบน เอาไม้จากชั้นบนลงข้างล่าง และในการกลับขอนไม้ควรจะพลิกขอนไม้ขึ้นลักษณะเดียวกัน  ทั้งนี้เพราะการกลับชั้นขอนไม้นั้นต้องการให้ท่อนไม้ด้านล่างซึ่งรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้เส้นใยถูกบีบรัดตัว ได้มาอยู่ชั้นบน  ส่วนการพลิกไม้นั้น เพราะต้องการให้การเจริญของเส้นใยเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากการเจริญเติบโตของเส้นใยจะเจริญลงตามแรงดึงดูดของโลก  หากทำการพลิกขอนไม้ก็จะทำให้เส้นใยเจริญทั่วไม้เร็วขึ้น
    ระยะเวลาในการพักไม้ของเห็ดแต่ละชนิดจะไม่เท่ากันเช่น เห็ดหูหนูให้พักไว้ประมาณ 2-3 เดือน  เห็ดลม เห็ดขอนขาวพักไว้ประมาณ 4-6 เดือน  เห็ดหอมพักไว้ประมาณ 6-8 เดือนเป็นต้น 
การทำให้เกิดดอก
    อุปกรณ์สำคัญ  คือ  โรงเรือนสำหรับเปิดดอก  โรงเรือน  มีลักษณะคล้ายกับโรงเรือนเปิดดอกเห็ดในถุงพลาสติก   ภายในโรงเรือนปูด้วยอิฐหักหรือเทคอนกรีต  ไม่มีชั้น  มีเฉพาะราวไม้สำหรับพาดท่อนไม้  ราวไม้แต่ละแถวห่างกันประมาณ  1.5  เมตร
    นำไม้ที่พักไว้ครบตามกำหนดระยะเวลาแล้ว ไปแช่นำประมาณ  12 - 24  ชั่วโมง  และถ้าน้ำที่ใช้แช่ไม้นั้นมีอุณหภูมิประมาณ  13 - 18  องศาเซลเซียส  ก็จะกระตุ้นให้เห็ดออกดอกเร็วยิ่งขึ้น  การแช่นั้นควรหาของหนักทับไม้ให้จมน้ำซึ่งการแช่น้ำนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อ
             1. ทำให้ไม้ที่แห้งซึ่งมีความชื้นอยู่น้อย  ให้มีความชื้นเพียงพอต่อการเจริญเติบโต
ของดอกเห็ด
             2. ต้องการกระตุ้นเส้นใยที่หยุดพักการเจริญและสะสมอาหารอยู่นั้น  ตื่นตัวอย่างรวดเร็ว  พร้อมทั้งทำการรวมตัวกันเพื่อเป็นดอกเห็ด  ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญ
             3. เป็นการทำลายสัตว์เล็ก ๆ เช่น  แมลงหรือตัวไรที่ติดเข้าไปในไม้  ทั้งนี้แมลง
เหล่านี้จะขาดอากาศในขณะที่ไม้แช่น้ำอยู่
             4. ต้องการให้เนื้อไม้อ่อนตัวลง  ทำให้เห็ดสามารถย่อยอาหารได้เร็วยิ่งขึ้น 
หลังจากที่แช่น้ำเสร็จแล้วให้ใช้ฆ้อนทุบหัวไม้ด้านละ 1-2 ครั้ง  แรงพอสมควร  ทั้งนี้เพื่อทำให้
เนื้อเยื่อของไม้ขยายตัว และ ทำลายแผ่นฟิล์มของน้ำ ซึ่งกันไม่ให้อากาศเข้าไปในเนื้อไม้ให้แตก
ออก  เพื่อให้อากาศเข้าไปในเนื้อได้
     การดูแลรักษาไม้ในโรงเรือน  นำไม้ที่แช่น้ำและทุบหัวแล้วเข้าโรงเรือน  โดยวางพาดในราวแบบเผาข้าวหลาม  หรือจะวางแบบเดียวกับการวางเห็ดหอมก็ได้  กล่าวคือ  เมื่อนำไปวางในโรงเรือนแล้วใช้ผ้าพลาสติกคล้ายกระสอบปุ๋ยชนิดไม่มีพลาสติกบางบุ  หุ้มให้เกิดความอุ่นในกองไม้หลังจากแช่น้ำเย็นแล้วการคลุมพลาสติกอาจคลุมไว้ 3 - 4 วัน  หรือจนกระทั่งออกดอกก็ได้แต่บางแห่งนิยมคลุมไว้เพียง 1 - 2 วันแล้วเปิดพลาสติก
        ดอกเห็ดจะเกิดขึ้นหลังจากเอาไม้เข้าไปในโรงเรือนแล้วประมาณ 4 - 5 วัน  และผลผลิตจะเก็บได้หลังจากนั้นไปอีกประมาณ 4 - 5 วัน  ระยะเวลาการเก็บได้เรื่อย ๆ ประมาณ  10 - 12 วัน  หรืออาจเกินกว่านั้น


โรงเปิดดอกเห็ดอเนกประสงค์
                                เห็ด ขอนไม้ เห็ดท่อนไม้  เพาะเห็ดในไม้  เพาะเห็ดในขอนไม้ ปลูกเห็ดในไม้ ปลูกเห็ดในท่อนไม้ เห็ดบนท่อนไม้ เห็ดบนขอนไม้
ก. การวางท่อนไม้เพาะเห็ด        ข. การแขวนถุงและท่อนไม้
ค. ชั้นเปิดดอกเห็ดชนิดเพาะด้วยขี้เลื่อยในถุง

     การรดน้ำ  จะต้องรดน้ำทุกวัน  วันละ 2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ในเวลากลางคืนควรเปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้เพราะจะได้อากาศบริสุทธิ์จากข้างนอกเข้าไปกระตุ้นให้เห็ดเจริญเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น
    การเก็บผลผลิต  เก็บเช่นเดียวกับการเก็บผลผลิตเห็ดจากถุงพลาสติก คือ ดูที่หมวกดอก จะต้องบานประมาณ 50% และเมื่อเห็นว่าจำนวนเห็ดน้อยลง  หรือมีแต่ดอกเล็ก ๆ ให้ลูบหรือเด็ดดอกเห็ดดอกเล็กทิ้ง  นำขอนไม้ไปวางไว้เช่นเดียวกับการพักไม้งดรดน้ำโดยเด็ดขาดให้ดูแลถึงความสะอาดของขอนไม้  พักทิ้งไว้ประมาณ  20 - 25  วัน  จึงนำมาแช่นำใหม่ทั้งนี้เพราะต้องการให้เชื้อเห็ดพักหลังจากที่ส่งอาหารไปเลี้ยงดอกเห็ดจำนวนมากแล้วและเป็นการรักษาเปลือกไม้ไม่ให้ล่อนเร็วด้วย  ในการเพาะเห็ดถ้าสามารถรักษาเปลือกไม้ไว้ได้นานเท่าที่จะนานได้โดยไม้ไม่ล่อนจะให้ผลผลิตมากกว่า ที่จะไม่มีเปลือกแต่สำหรับไม้บางชนิดที่เปลือกล่อนหรือหลุดง่ายต้องรีบแกะออกทันที  โดยสังเกตจากใช้มือบีบหรือดึงดูถ้ามีเสียงดัง คล้ายเปลือกไม้หลุดให้รีบแกะเปลือกไม้ออกทันที  เพราะถ้าไม่แกะออกเปลือกจะเน่า  แล้วทำให้ท่อนไม้ทั้งท่อนเสียหาย หลังจากแกะเปลือกออกแล้วควรล้างน้ำเอาส่วนที่สกปรกออกทิ้ง  อย่าใช้แปรงทองเหลืองขัดเป็นอันขาดเพราะถ้าใช้แปรงขัดไม้แล้ว  จะทำให้ผิวของท่อนไม้แห้ง  เกลี้ยง ไม่ดูดความชื้น
    หลังจากที่เก็บผลผลิตแล้วควรพักไม้ไว้ก่อนแล้วปฏิบัติ  เช่นเดียวกันจนกว่าไม้จะผุ  ซึ่งถ้าทำถูกวิธีแล้วไม้ขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ  10 - 15  เซนติเมตร  ยาว 1 เมตร  อาจจะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 5 - 8  กิโลกรัมต่อท่อน  ดอกเห็ดที่ได้ก็ไม่เเข็งกระด้าง
ปัญหาต่าง ๆ  ที่อาจจะเกิดขึ้นในการเพาะเห็ดในท่อนไม้
1.    ดอกเห็ดออกบริเวณเฉพาะรูที่เจาะใส่เชื้อ  สาเหตุจาก
    1.1       เชื้อเห็ดเดินยังไม่ทั่วท่อน  จะกินเฉพาะบริเวณรอบ ๆ รู  ที่เจาะเท่านั้น  ดังนั้นควรตรวจดูก่อนว่าเชื้อเห็ดกินทั่วท่อนไม้แล้วหรือยัง
    1.2    เชื้อเห็ดที่มีอาหารมากเกินไป  และเป็นเชื้อเห็ดที่มีส่วนผสมของดีเกลือ  ซึ่งจะทำให้เชื้อเห็ดไม่ยอมกินในเนื้อไม้
2. ผลผลิตออกน้อย  อาจเนื่องมาจาก
    2.1    เชื้อเห็ดไม้ยอมเข้าไปในไม้
    2.2    เชื้อจุลินทรีย์ทำลายเชื้อเห็ดก่อน  ดังนั้นต้องดูแลถึงความสะอาด
    2.3    มีเชื้อเห็ดอื่น ๆ ขึ้นแย่งอาหาร  เช่น  เห็ดแครงหากเกิดเห็ดชนิดนี้แล้วอย่าเด็ดเป็นอันขาด  ปล่อยทิ้งไว้ให้เน่าไปเอง  เพราะถ้าเด็ดทิ้งแล้วก็จะยิ่งเกิดมากขึ้น
    2.4    เชื้อโรคอาจเข้าทำลายเชื้อเห็ดให้ตายในขณะการพักไม้
3. เกิดเชื้อราสีขาวและอีกไม่นานจะเป็นสีเหลืองมีกลิ่นคาว  เนื่องจากพื้นโรงเรือนสกปรก
    เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคหรือพื้นโรงเรือนแฉะ   ดังนั้น  ควรโรยปูนขาวที่พื้นโรงเรือน  และรักษา
    พื้นโรงเรือนให้สะอาด  ส่วนท่อนไม้ควรวางบนคอนกรีตบล๊อกหรือทำให้สูงกว่าพื้นเล็กน้อย
4. มีวัชพืชเห็ดอย่างอื่นเกิดขึ้น  เนื่องจาก  เจาะไม้ในฤดูที่มีการระบาดของเห็ดต่าง ๆ เหล่านั้น
    เมื่อเกิดเห็ดชนิดอื่นปน ควรแยกออกมาทันที  งดรดน้ำปล่อยให้แห้งตายเอง
5. เปลือกล่อนง่าย  สาเหตุจาก
    5.1 การกระทำอันรุนแรง
    5.2 ระยะการเก็บดอกนานเกินไปทำให้ไม่เน่าและผุในที่สุดดังนั้นหากเห็นว่าดอกเห็ดให้
                 ผลผลิตน้อยลงควรพักไม้ทันที
6.เห็ดออกเฉพาะด้านล่าง  แสดงว่าความชื้นภายในโรงเรือนไม่พอ

7. มี  มด  ไร  ปลวก  มารบกวน  อาจแก้ไขโดย
    7.1 ถ้าเป็นมด  ให้ใช้ผงซักฟอกตีเป็นฟองราดตัว
    7.2 ถ้าเป็นปลวก  พื้นลาดคอนกรีต  ถ้าเจอตัวให้ใช้ผงซักฟองฆ่า  หรือฉีดยาป้องกัน
                 กำจัดปลวกแต่ห้ามฉีดบริเวณใกล้ไม้  หรือถูกไม้เป็นอันขาด
    7.3    ถ้าเป็นพวกไร  ใช้ปูนขาวโรย  หรือฉีดยา  เคลเทน   หรือเซฟวินก็ได้ 
8.  ดอกเห็ดออกมาแล้ว  เละ  เน่าตาย  เนื่องจาก
    8.1    แมลงกัด
    8.2    ถูกเชื้อรา  หรือ  แบคทีเรียทำลาย
 

© ฟาร์มเห็ด Bassbio. All Rights Reserved.

Login Form

Bassbio